ดอกบัวผุด(buaphut)

วันนี้ขอเก็บเรื่องราวของ "ดอกบัวผุด" มาฝากกัน โดยเป็นเรื่องของดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลายคนคงจะเคยได้ยิน และรู้จักดอกไม้ชนิดนี้แล้ว ส่วนใครที่ยังไม่รู้ลองทายดูสิครับ..ว่า คือดอกไม้อะไร??? ดอกไม้ที่ว่า คือ "ดอกบัวผุด"


ถึงแม้ "ดอกบัวผุด" จะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นเหม็น แต่ก็ถือว่ามีประโยชน์มากทีเดียว อย่างไรแล้วเสีย น่าจะให้ดอกไม้หายากอย่าง "ดอกบัวผุด" อยู่คู่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มากกว่าที่จะนำออกมาขาย หรือเก็บออกมาเพียงเพราะความแปลก ที่อยากจะเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ถึงแม้ว่าดอกบัวผุดจะมีกลิ่นเหม็นมากก็ตาม แต่เป็นพืชสมุนไพรที่หายากมากและมีคุณค่าสูง คือ นอกจากจะนิยมนำมาใช้ปรุงเป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงมีผิวพรรณเปล่งปลั่งแล้วยังเป็นยาบำรุงสำหรับ บุรุษเพศอีกด้วย

ลักษณะของดอกบัวผุด เมื่อยังตูมอยู่จะคล้ายกับหม้อหรือกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่มีกลีบหนา จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 70-80 เซนติเมตร ที่โคนของดอกจะมีกลีบนำสีน้ำตาลอมเหลืองเรียงสลับซับซ้อนกันอยู่มาก ภายในดอกจะมีแผ่นแบนคล้ายจาน ด้านบนมีปุ่มคล้ายหนามแหลมจานนี้จะซ้อนเกสรตัวผู้และรังไข่ไว้ด้านล่าง
         
สำหรับบัวผุดเป็นกาฝากชนิดหนึ่ง ที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากรากของพืชชนิดอื่น จะโผล่เฉพาะดอกซึ่งเป็นดอกเดียวขึ้นจากพื้นดินให้เห็นระหว่างฤดูฝนหรือในระยะที่อากาศและพื้นที่ยังมีความชุ่มชื้นสูง คือ ระหว่างพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับลำต้นของบัวผุดมีลักษณะเช่นไร มีการเกาะหรือเชื่อมติดกับพืชที่มันอาศัยอยู่อย่างไร
     
ดอกบัวผุดเมื่อยังสดอยู่จะมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม กลีบดอกมีความหนาตั้งแต่ 0.5-1 เซนติเมตร นับว่าเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบในประเทศไทย ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เคยมีรายงานว่า พืชสกุลเดียวกันนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกมากกว่า 100 เซนติเมตร ก็มี
จากผลสำรวจและวิจัย ของฝ่ายพฤษศาสตร์ กองบำรุง กรมป่าไม้ พบว่า บัวผุดพันธุ์ใหม่ ที่พบในประเทศไทยนี้ เป็นพืชกาฝากที่เกาะกินเฉพาะน้ำเลี้ยงจากรากของไม้เถาของว่านป่า "ย่านไก่ต้ม" เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในบางครั้งมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นดอกของย่านไก่ต้มซึ่งความจริงแล้วเถาย่านไก่ต้มเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์องุ่น (Vitidaceae) ที่มีเถาขนาดใหญ่พบขึ้นในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ที่มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอเกือบตลอดทั้งปี พื้นดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายตามหุบเขาหรือบริเวณริมลำธาร ดอกย่านไก่ต้มมีสีเขียวอมเหลืองขนาดโตประมาณ 2 เท่าของหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น
      
จากการศึกษา พบว่า พันธุ์ไม้ตระกูลบัวผุด (Raffiesia) มีประมาณ 13-14 พันธุ์เท่านั้น บัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นพันธุ์ของโลกเมื่อ พ.ศ.2527 โดย Dr.M.Meijer จากมหาวิทยาลัย Kentucky สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.A.F.G.Kerr นายแพทย์ชาวไอริช ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472
       
ในปัจจุบันดอกบัวผุดนับว่าจะหาดูได้ยากยิ่ง ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ป่าไม้ถูกทำลายลงไปอย่างมากทำให้สภาพนิเวศน์ของป่าเปลี่ยนไปมาก จะพบดอกบัวผุดบ้างเฉพาะตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระยอง เป็นต้น...