“ อุตพิด ” ดอกเหม็นหัวเป็นยาคน รุ่นใหม่ไม่เคยเห็นและรู้จักต้น “ อุตพิด ” อยากทราบว่า ดอกมีกลิ่นเหมือนอุจจาระคนเหมือนกับที่ได้จากผู้ใหญ่เล่าให้ฟังหรือไม่ และต้น “ อุตพิด ” มีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นจังหวะพอดีพบว่ามีผู้ขยายพันธุ์ “ อุตพิด ” ขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร เมื่อเร็วๆนี้ ประกอบกับทราบว่า ปัจจุบันต้น “ อุตพิด ” กำลังเป็นที่นิยมปลูกในหมู่ผู้ที่ชอบไม้แปลกๆ นำไปปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ความงามของก้านใบที่บางพันธุ์จะมีลายคล้ายก้านใบ ต้นบุกดูสวยงามมาก ชาวต่างชาติจะนิยมกันแพร่หลาย ส่วนใหญ่ ปลูกประดับสวนน้ำขนาดเล็ก รวมกับไม้น้ำชนิดต่างๆ สร้างบรรยากาศเป็นธรรมชาติเด็ดขาดนัก
อุตพิด หรือ TYPHONIUM TRILOBATU ( LINN ) SCHOTT อยู่ในวงศ์ ARACEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 10-45 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นวงบริเวณผิวดิน รูปลูกศรแกมรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเป็น 3 พู กว้างและยาว 10-20 ซม. ก้านใบยาวได้เกือบ 1-2 เมตร อยู่ที่ความสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ต้น “ อุตพิด ” ขึ้นอยู่ ก้านใบเป็นสีน้ำตาลอมแดง หรือสีแดงอมม่วงบางพันธุ์มีลายประเป็นจุดต่างๆ ทั่วทั้งก้านคล้ายก้านใบต้นบุก ชนิดนี้หายากมาก ชนิดที่ก้านใบเป็นสีเขียวมีเยอะกว่าดอก ออกเป็นช่อยาวเป็นเป็นรูปแท่งทรงกระบอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยสีเหลือง หรือสีแดงอมม่วงขนาดเล็กเรียงอัดกันแน่นเหมือนดอกหน้าวัว แต่จะมีขนาดใหญ่และยาวกว่า โดยดอกจะออกที่ปลายยอด มีใบประดับขนาดใหญ่สีม่วงแดง หรือสีม่วงดำรองรับ หลังใบประดับเป็นสีด้านปลายใบประดับแหลม ขอบใบม้วนเข้าหากัน ดอกเป็นดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน เวลามีดอกจะดูสีสันสดใสสวยงามยิ่งนัก แต่กลิ่นหอมของดอกจะเหม็นเหมือนกลิ่นอุจจาระคน จึงไม่ได้รับความนิยมปลูกตามบ้านทั่วไป พบขึ้นเป็นกลุ่มจำนวนมาก ทำให้เวลามีดอกส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งทั่วบริเวณใกล้เคียง เดินเฉียดแค่ 5-10 เมตร จะรู้ทันทีว่ามีต้น “ อุตพิด ” ขึ้นอยู่ในแถบดังกล่าว ดอก “ อุตพิด ” จะออกช่วงฤดูฝนขยายพันธุ์ด้วยหัว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร หัวสดหรือหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ต้มดื่มรักษาอาการแข็งเป็นลำในท้อง(อาการเถาดานในท้อง) ใช้หุงเป็นน้ำมันใส่แผลสด กัดฝ้า กัดหนอง สมานแผลได้เด็ดขาดนัก สมัยโบราณนิยมใช้กันแพร่หลายครับ.