ไอยริศ เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิงค้นพบมีอยู่แห่งเดียวในโลกเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย
ไอยริศ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber sirindhorniae Triboun & Keerat.) เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิง(Zingiberaceae) ค้นพบในปี พ.ศ. 2550 ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลกเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สำรวจพบบนยอดเขาหินปูนในเขตอำเภอหนองหินและอำเภอผาขาว จังหวัดเลย จัดเป็นพืชหายาก (rare plants) และเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic plants) ของประเทศไทย ค้นพบโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ ผู้อำนวยการ สถานีวิจัยลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเบื้องต้น ไอยริศ, การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ...
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู ลำต้นเป็นเหง้ากลม รากสะสมอาหารทรงกระบอก 1 – 3 ราก เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเช่นเดียวกับขิง มีลำต้นส่วนเหนือดินแตกกอ 3 – 6 ยอด แต่ละยอดยาว 40 – 70 ซม. มี 5 – 12 ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบรูปขอบขนาน กว้าง 3.5 – 4.5 เซนติเมตร ยาว 8 – 14 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบรูปลิ่ม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ลิ้นใบสีแดง ยาว 7 – 8 มิลลิเมตร แยกเป็น 2 แฉกอิสระก้านใบยาว 3 – 6 มิลลิเมตร
ช่อดอกเป็นช่อเชิงลด เกิดที่ปลายลำต้นส่วนเหนือดิน กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 5.5 – 7.5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 1 – 2 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียว มีขอบสีม่วงแดง ใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกด้านเดียว ขอบเป็นหยัก 3 แฉก กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 3 แฉก
เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน สีม่วงเข้มมีลายประสีขาวเปลี่ยนรูปร่างไปมีลักษณะคล้ายกลีบดอก 2 อัน ข้างแยกกัน 3 อัน อยู่ตรงกลาง เชื่อมติดกันเป็นกลีบปาก รูปคล้ายไข่กลับ กว้างและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร อับเรณูมี 2 พูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดสีดำรูปกระสวย มีเยื้อหุ้มเมล็ดสีขาว
ไอยริศ สำรวจพบโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร (ในขณะสำรวจพบ) และได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ไอยริศ”
การตีพิมพ์ในวารสารเพื่อยืนยันพันธุ์พืชชนิดใหม่ที่พบ
ได้ตีพิมพ์ในวารสาร The Thailand Natural History Museum Journal 10(1): 1. 2016. การตีพิมพ์ในวารสารเพื่อยืนยัน พืชพันธุ์ใหม่ของโลกเพื่อนำไปใช้ใน การอ้างอิงในด้านอนุกรมวิธานพืช ข้อมูลที่ศึกษาและตัวอย่างอ้างอิงได้นำไปเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช เพื่อการศึกษาด้านอนุกรมวิธานต่อไป ข้อมูลที่ศึกษาสามารถเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นในประเทศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืช วงศ์ขิง (Zingiberaceae)