Custom Search
นักบรรพชีวินวิทยาพบพืชโบราณที่เจริญเติบโตใต้น้ำเมื่อ 125-130 ล้านปีก่อน ในบริเวณซึ่งกลายเป็นยุโรปปัจจุบัน น่าจะเป็นพืชมีดอกชนิดแรกสุดเท่าที่ทราบ แม้จะไม่มีกลีบดอกเหมือนพืชดอกยุคใหม่และมีเมล็ดเพียง 1 เมล็ด และอาจเก่าแก่กว่าพืชดอกที่พบในจีน
รายงานจากเอเอฟพีระบุถึงการค้นพบฟอสซิลพืชโบราณที่ชื่อ “มอนท์เซเชีย วิดาไลอิ” (Montsechia vidalii) กว่า 1,000 ตัวอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นพืชดอกที่เก่าแก่กว่าที่พบในจีนก่อนหน้านี้ แม้ เดวิด ดิลเชอร์ (David Dilcher) นักบรรพชีวินพฤกษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) สหรัฐฯ หัวหน้าทีมศึกษา
จะกล่าวถึงคำว่า “พืชดอกชนิดแรก”
นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้การยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงเหมือนกับคำว่า
“มนุษย์คนแรก”
จากการศึกษาโดยอาศัยการวิเคราะห์แบบใหม่นั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า หาก“มอนท์เซเชีย วิดาไลอิ” ไม่เก่าแก่กว่า อาร์คีฟรัคตัส ซิเน็นซิส (Archaefructus sinensis) พืชน้ำคล้ายคลึงกันที่พบในจีนก่อนหน้านี้ ก็น่าจะอยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้จัก “มอนท์เซเชีย วิดาไลอิ” มานานแล้ว โดยฟอสซิลพืชดอกดังกล่าวถูกพบมานานกว่าศตวรรษ โดยพบอยู่ภายในชั้นตะกอนหินปูนของเทือกเขาไอบีเรียนทางตอนกลางของสเปนและในเทือกเขาพิเรนนีส แต่ดิลเชอร์กล่าวว่าฟอสซิลพืชชนิดนี้จำนวนมากถูกจำแนกผิด เพราะมอนท์เซเชียไม่ปรากฏส่วนดอกอย่างชัดเจนเหมือนพืชที่มีกลีบดอกทั่วไป หรือโครงสร้างผลิตน้ำหวานเพื่อล่อแมลง อีกทั้งยังอาศัยอยู่ใต้น้ำตลอดช่วงชีวิต
ลักษณะของพืชดอกดึกดำบรรพ์ที่ดูคล้ายสาหร่ายทะเลนี้เจริญเติบโตในน้ำจืด มีเมล็ดเพียง 1 เมล็ด ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้จำแนกพืชดอกหรือพืชที่มีรังไข่ห่อหุ้มเมล็ด (angiosperm) โดยดิลเชอร์ระบุว่า ลักษณะของเมล็ดถูกหุ้มแบบกลับบนลงล่าง ส่วนก้านและใบมีลักษณะให้รองรับกรดไฮโดรคลอริคแบบหยดต่อหยด
ตัวอย่างของพืชดอกใต้น้ำนี้ถูกตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง และกล้องจุลทรรศน์อิเล้กตรอนแบบส่องกราด คำนวณอายุกลับไปได้ราว 125-130 ล้านปีก่อน ราวๆ ยุคของอิกัวโนดอน และบราชิโอเซอรัส ครองโลก
ด้าน โดนัลด์ เลส (Donald Les) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต (University of Connecticut)
ซึ่งแสดงความเห็นต่องานวิจัยนี้
ที่ตีพิมพ์ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ของสหรัฐฯ ว่า การจำแนกฟอสซิล
เหล่านี้ใหม่นั้น ให้มุมมองน่าตื่นตาตื่นใจต่อปริศนาของวงการชีววิทยาด้านพืช
“งานของเดวิดนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบค้นที่ยังดำเนินต่อไป เพื่อเผยถึงสภาพวิวัฒนาการและลักษณะทางนิเวศวิทยา ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการผงาดขึ้นของพืชดอกที่โดดเด่นไปทั่วโลก” เลสให้ความเห็น