คืนชีพดอกไม้โบราณอายุกว่า 3 หมื่นปี


คืนชีพดอกไม้โบราณอายุกว่า 3 หมื่นปี
นักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียได้ปลูกดอกไม้จากเมล็ดที่พบในชั้นดินเยือกแข็ง ซึ่งมันถูกเก็บเอาไว้โดยกระรอกเมื่อ 3 หมื่นปีก่อนได้สำเร็จ

เมล็ดพืชโบราณนี้ถูกค้นพบที่ชายฝั่งแม่น้ำ Kolyma ในประเทศไซบีเรีย ซึ่งที่แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมที่มีคนมาขุดหาซากช้างแมมมอธมากติดอันดับต้นๆ ทางทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Institute of Cell Biophysics ได้เมล็ดนี้มาเพาะพันธุ์จนได้ดอกไม้ชื่อว่า Silene stenophylla ดอกไม้หนึ่งหนึ่งในตระกูลของดอก campion ซึ่งนี่อาจจะเป็นพืชที่เก่าแก่ที่สุดที่สามารถคืนชีพได้อีกครั้ง ซึ่งสถิติเดิมเป็นของเมล็ด date palm ที่ถูกเก็บไว้กว่า 2,000 ปีที่เมือง Masada ประเทศอิสราเอล

แต่ข่าวร้ายก็คือศาสตราจารย์
David Gilichinsky ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ได้เสียชีวิตก่อนหน้าที่งานวิจัยของเค้าจะถูกตีพิมพ์ออกมาเพียงไม่กี่วัน

ในการสำรวจครั้งนี้เค้าและทีมงานได้พบโพรงกระรอกกว่า 70 โพรงที่มันเจาะอาศัยอยู่ริมแฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ ซึ่งโพรงเหล่านี้อยู่ลึกลงไปจากผิวดินปัจจุบัน 20-40 เมตร อยู่ในชั้นดินที่ขุดพบโครงกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น แมมมอธ, แรดดึกดำบรรพ์, วัวไบสัน, ม้า กวางและสัตว์อื่นๆที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับแมมมอธ รวมถึงมีการค้นพบพืชบางส่วนด้วย นั่นหมายความว่ายังมีอะไรที่เรายังไม่รู้แช่แข็งและรอการพิสูจน์อยู่อีกมากมาย

พวกเค้าได้นำสิ่งที่ขุดพบกลับมายังห้องทดลองใกล้ๆกับกรุงมอสโคว์ เริ่มแรกทางทีมวิจัยพยายามใช้วิธีแตกหน่อเมล็ดพืชที่ค้นพบแต่ก็พบกับความล้มเหลว แต่ในที่สุดพวกเค้าก็ทำได้สำเร็จด้วยการนำเซลล์เนื้อเยื่อของเมล็ดไปเพาะในจานทดลอง เซลล์เนื้อเยื่อนี้จะเต็มไปด้วยซูโครส ซึ่งใช้เป็นอาหารสำหรับการเติบโตของพืชได้เป็นอย่างดี แถมมันยังมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดด้วย อย่างในแอฟริกาเค้าก็เอาน้ำตาลมาใช้รักษาให้วัคซีนมีความสดอยู่เสมอท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น

Silene stenophylla เป็นพืชที่เติบโตในเขตไซบีเรียนทุนดราที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เมื่อนำมันมาเปรียบเทียบกับพืชสมัยใหม่จะพบกับความแตกต่างในด้านรูปร่างของกลีบดอกและเพศของดอกไม้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าทำไม แต่นี่น่าจะเป็นการจุดประกายนำไปสู่การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการและสภาพของสิ่งแวดล้อมในระยะหลายพันปีที่ผ่านมา
VIA BBC