ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ดอกหงอนไก่ความงามและศักดิ์ศรีที่ผูกพันคนไทย


ชื่อสามัญ: Cockscomb, Chinese Wool Flowerชื่อวิทยาศาสตร์: Celosia argentea L. var. cristata (L.) Kuntze
ชื่ออื่น: หงอนไก่ดง หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง), ด้ายสร้อย สร้อยไก่ (เชียงใหม่), หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง)
วงศ์: AMARANTHACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1.0-1.5 ม. ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านสาขามาก
ผิวขรุขระ

ใบ ใบเรียงสลับ ใบเดี่ยว 

รูปหอกหรือรูปแถบแคบ กว้าง 1-6 ซม. ยาว 8-15 ซม. โคนใบแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นและมีไข
ปกคลุม เส้นใบนูนเด่นด้านท้องใบ

ดอก ดอกช่อออกที่ปลายยอด ช่อดอกกว้าง 1.5-2.0 ซม. ช่อดอกมี 2 แบบคือ รูปทรงกระบอกและแบบรูปหงอนไก่ บางครั้งพบทั้งสองแบบในต้นเดียวกัน กลีบรวมมี 4 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 0.6-1.0 ซม. เกสรเพศผู้ปลายแหลมมี 5 อัน ฐานรองดอกเชื่อมติดกันเป็นแผ่นย่น เป็นก้อนกลม ใบประดับรองดอกขนาดเล็กเป็นเส้นคล้ายกำมะหยี่ ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีหลายสี เช่น แดงสด ขาว และเหลือง

ผล ผลรูปไข่ค่อนข้างกลม สีดำเป็นมัน ขนาดเล็ก ผลแห้งแตกแบบมีฝาเปิด สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดสีดำ เป็นมัน

หงอนไก่ : ความงามและศักดิ์ศรีที่ผูกพันคนไทย

ขณะ ที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้

(ปลายเดือนมีนาคม ๒๕๔๖) สงครามระหว่างอิรักกับฝ่ายพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ-ออสเตรเลีย เป็นต้น) กำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือดทั้งในสนามรบและในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ น่าสังเกตว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา สงครามแทบทุกครั้งมักจะมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีส่วนร่วมและมีบทบาท หลักอยู่เสมอ เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ล่าสุดก็สงครามที่อัฟกานิสถานและสงครามอิรัก (ทั้ง ๒ ครั้ง)

จาก บทบาทของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวนี้เอง ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวอเมริกันถูกชาวโลกตั้งสมญานามต่างๆ มากมาย สมญาหนึ่งที่รู้จักกันดีจนกลายเป็นชื่อหนังสือและภาพยนตร์ชื่อดังเมื่อ ประมาณ ๔๐ ปีที่ผ่านมาก็คือ ชื่อ "The Ugly American" จำได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย สมมุติเป็นประเทศสารขัณฑ์) มีคนไทยร่วมแสดงด้วยคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศสารขัณฑ์ ซึ่งต่อมาท่านได้เขียนเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนหนึ่งว่า ท่านได้ตั้งข้อสังเกตกับฉากบ้านคนท้องถิ่น (ชาวสารขัณฑ์) ว่าหากเป็นบ้านคนไทย จะต้องมีกระถางไม้ดอกไม้ประดับหรือ ไม้มงคลอยู่ที่ชานบ้าน เช่น บอน โกสน ไม้ดัด ว่านนางคุ้ม (คุ้มครองบ้าน) ว่าน เสน่ห์จันทร์ (เสริมสิริมงคล) และไม้ดอกขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่กองถ่ายภาพยนตร์ก็ได้จัดฉากตามที่ท่านได้ตั้งข้อสังเกตทุก ประการ ข้อสังเกตของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงเมื่อครั้งผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ในชนบทของจังหวัด สุพรรณบุรี จำได้ว่าบ้านของผู้เขียนเองและของเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ต่างก็มีการปลูกไม้ ดอกไม้ประดับ ไม้มงคล ตั้งเอาไว้บนชานบ้านด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะไม้ดอกยอดนิยมชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูกใส่กระถาง หรือกระป๋องขนาดเล็กตั้งไว้บนชานบ้าน ก็คือ ต้นหงอนไก่
หงอนไก่ : พืชที่มีสายใยความผูกพัน ทางวัฒนธรรม
ต้น หงอนไก่ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันในปัจจุบัน เป็นพืชล้มลุกเนื้อ อ่อนขนาดเล็ก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Celosia argentea Linn. Var. cristata Ktre. อยู่ในวงศ์ Amaranthaceae เช่นเดียวกับบานไม่รู้โรย และผักโขม เป็นต้น มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ ๓๐-๖๐ เซนติเมตร เป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น ลำต้นมีเปลือกเรียบ สีของลำต้นอาจเป็นสีเขียวอ่อน เขียวแก่ หรือแดง ขึ้นอยู่กับสีดอก ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ดอกตามขั้วต้น ใบสีเขียวทางยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ยาว ๘-๑๐ เซนติเมตร ดอกเป็นชนิดสมบูรณ์เพศขนาดเล็กรวมกันแน่นบนก้านดอกที่อยู่ตรงส่วนยอดของลำ ต้น รวมทั้งดอกเป็นรูปร่างคล้ายหงอนไก่ สีของดอกหงอนไก่เกิดจากกลีบดอกขนาดเล็กมากมาย ที่คุ้นเคยกันดี ก็คือ สีแดงเข้ม คล้ายสีหงอนไก่จริงๆ แต่ในปัจจุบันมีการผสมพันธุ์จนได้หงอนไก่ที่มีสีต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น สีแสด สีชมพู สีเหลือง สีขาว และหลายสีในดอกเดียวกันก็มี เมล็ดหงอนไก่มีขนาดเล็กมาก เช่นเดียวกับเมล็ดบานไม่รู้โรยหรือ ผักโขม เมล็ดมีผิวสีดำเป็นมัน สามารถ เก็บได้นานหลายสิบปี นานกว่าเมล็ดพืชส่วนใหญ่

สันนิษฐาน ว่า หงอนไก่มีถิ่นกำเนิดในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก และคงจะแพร่เข้ามาในประเทศไทยไม่เกินร้อยปีมานี้เอง เพราะไม่พบในเอกสารก่อนหน้านั้น ชื่อหงอนไก่ในภาษาอังกฤษ คือ Cockcomb ซึ่งแปลว่าหงอนไก่เช่นเดียวกัน แสดงว่าลักษณะของดอกหงอนไก่ซึ่งคล้ายหงอนของไก่ จริงๆ นั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก น่าสังเกตว่า คนไทยใช้ชื่อหงอนไก่เรียกชื่อต้นไม้มานานแล้ว เช่น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการกล่าวถึงหงอนไก่อยู่ด้วย แต่ผู้รู้อธิบายว่า หงอนไก่ในลิลิตพระลอ เป็นต้นไม้พื้นบ้านที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnestic palala Merr. วงศ์ Con-naraceae เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย (คล้าย นมแมว) เนื้อแข็ง พบในป่าเบญจพรรณทั่วไป เป็นพืชท้องถิ่นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ไปจนถึงฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออก ใบคล้ายตะลิงปลิง ยอดและใบอ่อนมีสีแดง ดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกดอกตามลำต้น หรือกิ่งก้าน (คล้ายตะลิงปลิง) ส่วนที่คล้ายหงอนไก่จนได้ชื่อว่าหงอนไก่ก็คงจะเป็นเพราะลักษณะผลที่อยู่รวม กันเป็นพวง มีลักษณะคล้ายหงอนไก่และมีขนอ่อนสีแดงปกคลุม หงอนไก่ชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นยาแก้ปวดท้อง รักษาสตรีหลังคลอดบุตร โรคหนองใน และไข้จับสั่น ชื่อที่ใช้เรียกในท้องถิ่น คือ หงอนไก่ หงอนไก่ป่า(ภาคกลาง) ตะลิงปลิงป่า(ราชบุรี) มะสักหลาด มะตายไว (เหนือ) หมาตายทากลาก (ชลบุรี) หงอนไก่หน่วย (ชุมพร)
นอกจากนี้ยังมีหงอนไก่ ที่เป็น ต้นไม้พื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง คือ หงอนไก่ ทะเล (Heritiera littoralis Dry. วงศ์ Sterculiaceae) เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณป่าชายเลน ลักษณะผลมีสัน ตรงกลางคล้ายหงอนไก่ ภาคใต้เรียกไข่ควายหรือดุหุน คนไทยนั้นผูกพันกับไก่มานานมากแล้ว เพราะเชื่อว่าไก่บ้านที่เลี้ยงกัน อยู่ทุกวันนี้มีพัฒนาการมาจากไก่ป่าที่มนุษย์จับเอามาเลี้ยงนั่นเอง ประเทศไทยมีไก่ป่าอยู่อย่างมากมาย ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน จึงเชื่อได้ว่าคนไทยนำเอา ไก่ป่ามาเลี้ยงและคัดพันธุ์จนกลายเป็น ไก่บ้านมานานนับพันปีแล้ว โดยเฉพาะไก่ยอดนิยมในหมู่คนไทย คือ ไก่ชนสายพันธุ์ต่างๆ หลักฐานอย่างหนึ่งคือ รูปปั้นตุ๊กตาเสียกบาล สังคโลกสมัยกรุงสุโขทัย มีรูปผู้ชายชาวสุโขทัยอุ้มไก่ชนอยู่ด้วย (รูปปั้นผู้หญิงมักอุ้มลูก) แสดงว่าผู้ชายไทยสมัยนั้นรักไก่ชนพอๆ กับผู้หญิงรักลูกเลยทีเดียว

เนื่องจากหงอนไก่นั้นถือเป็นสิ่งเชิด หน้าชูตาของไก่ โดยเฉพาะไก่ตัวผู้ที่นอกจากทำให้เกิดความงามแล้ว ยังถือเป็นศักดิ์ศรีอีกด้วย เพราะอยู่บนส่วนหัวที่ถือว่าเป็นส่วนที่สูงตามตำแหน่งที่ตั้งและความสูงใน ฐานะทางความเชื่อของคนไทย คนไทยในอดีตมีชื่อเรียกหงอนไก่ อยู่หลายชื่อซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะรูปร่างของหงอนไก่นั้นๆ ดังเช่นหนังสืออักขราภิธานศรับท์ เมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้วให้ความหมายเอาไว้ว่า

"หงอนไก่ ; คืออาการสิ่งที่เป็น สันแฉกๆ อยู่บนหัวไก่ทั้งปวงนั้น"

"หงอนชะบา ; คืออาการหงอนไก่แจ้ มันแบนบาง สีแดงเหมือน ดอกชะบานั้น"

"หงอนหิน ; คืออาการหงอนไก่ ที่มันเป็นตุ่มแน่นอยู่นั้น เหมือนอย่างหงอนไก่อู เป็นต้น"

"ไก่แจ้ ; ไก่ตัวไม่สู้โตนัก ขนเหลืองบ้าง แดงบ้าง หงอนจักๆ"

"ไก่อู ; ไก่เขาเลี้ยงไว้สำหรับชนกัน หงอนกลมเล็กๆ ไม่เป็นแฉกเหมือนไก่แจ้"

จะ เห็นได้ว่าไก่ชนก็คือ ไก่อู และไก่อูจะมีหงอนไม่ใหญ่หรืองดงามเหมือนไก่แจ้ เพราะมีจุดประสงค์ต่างกัน ไก่แจ้ต้องการสีสันสดใส หงอนใหญ่งดงาม ส่วนไก่อูเน้นความสามารถในการต่อสู้ หงอนมีขนาดเล็กเพื่อให้ไม่ถูกจิกตีบาดเจ็บได้ง่ายในระหว่างต่อสู้ ดอกหงอนไก่ที่คนไทยนิยมปลูกกันทั่วไปนั้นเน้นที่ขนาดใหญ่ สีสดใสและความงดงามคล้ายหงอนไก่แจ้มากกว่า หงอนไก่อู (หรือไก่ชน)

ประโยชน์ของหงอนไก่
ใน หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย กล่าวถึงสรรพคุณด้านยาของหงอนไก่เอาไว้ว่า ราก : แก้ไข้เพื่อลม (ใช้ในฤดูฝน มีอาการท้องอืดเฟ้อ) และไข้พิษ แก้โลหิต และลมอัมพฤกษ์ บำรุงธาตุ แก้หืด แก้เสมหะ มีรสเผ็ดร้อน ประโยชน์ด้านหลักของหงอนไก่คือต้นใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพราะความงดงามโดดเด่นของรูปทรงและสีของดอก สามารถปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกเป็นแปลง หรือปลูกตามขอบแปลง หรือริมทางเดิน เพราะปลูกง่าย แข็งแรง ทนทาน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกบานแล้วมีอายุยาวนานคล้ายบานไม่รู้โรย เพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน ตัดเป็นดอกไม้ตากแห้งได้ดี เก็บได้นานและไม่เปลี่ยนสี
เนื่องจากหงอนไก่มีเมล็ดมาก เก็บได้นาน ปลูกง่าย เด็กๆ จึงปลูกหงอนไก่ได้ดี เมื่อผู้เขียนยังเด็กเคยเก็บกระป๋องนมข้นมาเปิดปากและเจาะรูที่ก้น ใส่ดินปลูกต้นหงอนไก่ ซึ่งได้หงอนไก่ต้นเล็ก เพราะความจำกัดของปริมาณดิน แต่ถึงกระนั้น หงอนไก่ก็ยังออกดอกได้ดี และมีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดต้นหรือกระป๋องที่ใช้ปลูก แลดูงดงามโดดเด่นมากกว่าไม้ดอกชนิดอื่นๆ น่าเสียดายที่เด็กไทยสมัยนี้ไม่ค่อยปลูกดอกไม้กันเหมือนแต่ก่อนแล้ว น่าจะมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยโรงเรียน ต่างๆ มีวิชาเกี่ยวกับการเกษตร และเริ่มต้นด้วยการปลูกพืชที่ปลูกได้ง่ายและงดงามดังเช่นหงอนไก่ เด็กๆ ก็น่าจะยอมรับได้ไม่ยาก

เรียบเรียงข้อมูลโดยmanman

รายการบล็อกของฉัน

 hellomanman  happy-topay  invite-buying
 men-women-apparel diarylovemanman news-the-world
 homemanman alovemanman
 menmen-love
 ghost-in-manman  U.F.O.manman  kidsloveman
foodmanman  flowermanman herbs-in-manman
devilmanman herbs-in-manman manman clip