น้ำมันหอมระเหยคืออะไรมาอ่านดูซิ


น้ำมันหอมระเหยคืออะไร
น้ำมันหอมระเหย เป็นผลิตผลจากการสกัดพืชสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งอาจสกัดมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชนั้นๆ เช่น สกัดมาจาก ผล ดอก ใบ เมล็ด เปลือก ก้าน ฯลฯ วิธีการสกัดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การกลั่นด้วยไอน้ำ และการใช้สารเคมีเป็นตัวทำลาย หลังจากการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะถูกนำมาสังเคราะห์ เพื่อกลั่นแยกหาสารต่างๆ ที่มีกลิ่นหอม สารเหล่านี้เองที่จะถูกนำมาคัดเลือก ผสมผสานและสร้างขึ้นมาเป็นกลิ่นใหม่ๆ
การสร้างสรรค์ให้ได้กลิ่น โดยปกติแล้ว มี 3 ขั้นตอน คือ
1.สกัด
2.สังเคราะห์
3.ประกอบสร้างขึ้นใหม่

กลิ่นสังเคราะห์จากสารเคมี...และที่มา
นับตั้งแต่ นักเคมีชาวอังกฤษ เซอร์วิลเลี่ยม เฮนรีเบอร์กิน ได้สกัดกลิ่นหอมจากสารเคมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1863 จนถึงทุกวันนี้ ทำให้มีสารกลิ่นหอมที่ได้จากการสังเคราะห์สารเคมี อยู่มากกว่า 4,000 ชนิด (ส่วนกลิ่นที่สกัดจากพืชธรรมชาติ มีมากกว่า 2,000 ชนิด และพบในประเทศไทย ประมาณ 400 ชนิดและกลิ่นหอมที่ได้จากสัตว์มีเพียง 4 ชนิด) กลิ่นหอมกลิ่นแรกที่คิดค้นได้เป็นกลิ่นที่คล้ายกับกลิ่นอัลมอลด์ ซึ่งเป็นกลิ่นไนโตรเบนซิน ได้มาจากสารสังเคราะห์ จากกรดไนตริกและเบนซิน ต่อมาก็มีการคิดค้นกลิ่นต่างๆ อีกมากมาย

สารหอมระเหยที่ได้จากสัตว์มีเพียง 4 ชนิด
นอกเหนือจากที่รู้กันว่าดอกไม้มีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีกลิ่นหอมที่ได้จากสัตว์อยู่ 4 ชนิด ซึ่งเป็นที่รู้จักดีมาตั้งแต่โบราณ สารระเหยที่ได้จากสัตว์มักมีราคาแพงและหายาก เพราะต้องคร่าชีวิตสัตว์เหล่านั้นมาเพื่อได้ซึ่งกลิ่นหอม
1. กลิ่นอำพัน หรืออำพันทอง (ambergris) จากปลาวาฬหัวทุย เป็นส่วนที่ปลาวาฬจะสำรอกเอาก้อนอำพันนี้ ออกมาจากกระเพาะหรือฆ่าปลาวาฬแล้วผ่าเอาก้อนอำพันมา มักพบมากในแถบชายฝั่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
2. กลิ่นชะมด กลิ่นที่ได้จากชะมด เป็นสิ่งที่ชะมดขับจากกระเปาะของต่อมคู่ใกล้อวัยวะสืบพันธ์ ของทั้งตัวผู้และตัวเมียที่เช็ดเอาไว้ตามต้นไม้ กลิ่นนี้ถ้าหากต้องการ ต้องจับชะมดมาขังไว้แล้วจะได้กลิ่นที่ชะมดเช็ดเอาไว้ตามกรง
3. กลิ่นจากบีเวอร์ เป็นกลิ่น castoreum ซึ่งเป็นสิ่งขับถ่ายจากกระเปาะรูปทรงรีระหว่างทวารหนัก และอวัยวะสืบพันธุ์ แรกๆ จะมีกลิ่นไม่หอมแต่เมื่อเวลาผ่านไป กระบวนการทางเคมีจะเปลี่ยนให้กลิ่นหอมทนนาน ขบวนการนี้ก็เช่นเดียวกับอำพันซึ่งต้องใช้เวลาเปลี่ยนให้กลิ่นหอมขึ้น
4. กลิ่นจากกวาง (Musk deer, Moschus mos-chiferus) ซึ่ง Musk เป็นผงไขมันแข็ง สีคล้ำอยู่ในกระเปาะที่เป็นถุงหนัง จะได้มาด้วยการฆ่ากวางแล้วผ่าเอาออกมา จึงมีราคาแพง

น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อม
ประวัติศาสตร์ของการสกัดกลิ่นหอมจากพืชธรรมชาติ มีมากกว่า 6,000 ปี ดังนั้นวิวัฒนาการที่ใช้ในการได้มาซึ่งกลิ่น จึงมีหลากหลาย ตามแต่ยุคสมัย ตั้งแต่วิธีที่ง่ายที่สุดถึงยากที่สุด อาทิ
1. เปลวไฟย่างท่อนไม้ จนทำให้ไม้คายน้ำมันออกมา ทีละหยด แล้วนำน้ำมันหอมไปใช้
2. ต้มด้วยความร้อน นำดอกไม้ลงต้มกับน้ำมัน จนถึงระดับความร้อนที่น้ำมันในดอกไม้คายตัวออกมา แล้วนำไขน้ำมันหอม (ปอมเมด-POMADE-น้ำมันหอมเข้มข้น) ที่ได้มาไปทิ้งไว้ให้เย็นเพื่อนำไปเก็บไว้ใช้ต่อไป แต่วิธีนี้ใช้ได้กับดอกไม้ที่มีกลีบแข็งแรงและทนทาน เช่น กุหลาบ และกระดังงา ส่วนดอกไม้ที่บอบบางเช่น มะลิ ใช้วิธีนี้ไม่ได้จะทำให้กลิ่นเหม็นเขียว
3. หีบ คล้ายกับการหีบอ้อย ส่วนมากจะใช้กับไม้ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ส่วนที่ได้มาคือน้ำเลี้ยง (ซึ่งจะนอนก้น) และน้ำมันหอม (ซึ่งจะลอยอยู่ส่วนบน) เมื่อได้น้ำมันหอมมาก็ซ้อนขึ้นมาใช้ได้เลย
4. กลั่น แพทย์ชาวอาหรับชื่อ อวิเซนา เป็นผู้ค้นพบวิธีกลั่นนี้ ซึ่งใช้หลักง่าย ๆ โดยการต้มดอกไม้ ใบไม้ แล้วปล่อยให้ไอน้ำ พากลิ่นหอมลอยไปปะทะความเย็น ในฉับพลันไอน้ำร้อนนั้นจะควบแน่นเป็นหยดน้ำมันหอมระเหย วิธีนี้เป็นที่นิยมและแพร่กระจายไปทั่วยุโรป จนทำให้มีวิวัฒนาการ การสกัดเกิดขึ้นอีกหลายวิธี และวิธีกลั่นนี้ก็ยังนิยมใช้กันจนถึงปัจจุบันนี้ แต่เครื่องกลั่นมีความทันสมัยขึ้นเพราะจะมีท่อแยกน้ำมันหอมระเหย และน้ำออกจากกัน
5. การสกัดด้วยการดูดซึมด้วยความเย็น โดยใช้ไขวัวบริสุทธิ์ ฉาบบนแผ่นกระจกใสแล้วโรยดอกไม้หอมให้ทั่ว กลิ่นหอมจะถูกไขวัวซึ่งเย็นกว่าดูดซับน้ำหอมเอาไว้ แล้วจึงนำไขวัว ไปแยกกลิ่นหอมอีกทีหนึ่ง วิธีดูดซับกลิ่นด้วยไขมันนี้ เป็นวิธีการที่พัฒนามาจากอียิปต์โบราณ ซึ่งนิยมแช่ดอกไม้หอม ในไขวัว-แกะ-ห่าน เพื่อนำมาใช้แต่งผม วิธีการทำน้ำหอมที่เรียกว่า อองเฟลอราจ (Enfleurage) ก็มีวิวัฒนาการมาจากการสกัดนี้เช่นกัน
6. การสกัดด้วยวิธีแช่ดอกไม้ลงในสารละลายที่ระเหยเร็วมาก สารทำละลายที่ใช้คือ แอลกอฮอล์ อาซีโตน เฮกเซน อีเทอร์ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดอกไม้แต่ละชนิดว่า ต้องใช้ตัวทำละลายชนิดไหน ใช้อุณหภูมิเท่าใด ขั้นตอนที่เข้าใจง่ายๆ คือ เรียงดอกไม้ลงในถัง ไม่ให้แน่นเกินไป เมื่อใส่สารละลายลงไปก็จะได้ทำปฏิกิริยาได้อย่างทั่วถึง

สารละลายนี้จะละลายเอาน้ำมันหอมระเหยออกจากดอกไม้ จากนั้นก็เป็นขบวนการแยกสารสกัดหอมออกจากตัวทำละลาย เอาน้ำมันหอมระเหยออกจากดอกไม้ จากนั้นก็เป็นขบวนการ แยกสารสกัดหอมจากตัวทำละลาย ซึ่งสารสกัดหอมที่ได้ จะอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น ของเหลว ของแข็ง และครีมเข้ม ส่วนสีก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิด ในการสกัดนี้ จะใช้เวลาในการสกัดไม่เท่ากัน บางชนิด 10 ชั่วโมง บางชนิดถึง 40 ชั่วโมง จากนั้นก็นำสารสกัดที่ได้ไปทำปฏิกิริยาทางเคมีอีกครั้ง เพื่อแยกให้ได้มาซึ่ง สารหอมระเหย หรือน้ำมันหอมระเหย ด้วยวิวัฒนาการที่ทันสมัย และนักเคมีปัจจุบันที่เก่งๆ สารหอมนี้เองจะถูกแยกได้อีกเป็นร้อยๆ ชนิดเพราะในกลิ่นหอม 1 ชนิด ไม่ได้มีกลิ่นเพียงกลิ่นเดียว อาทิ สารจากตะไคร้ สามารถแยกเป็นกลิ่นกุหลายและกลิ่นมะนาวได้อีกด้วย